ด้วยเรื่องของตัวโน๊ต
ดนตรีเป็นศิลปะที่มวลมนุษย์ยกย่องว่า
เป็นยอดแห่งศิลปะทั้งหลาย ศิลปะนี้ใช้เสียงดนตรีหรือเสียงขับร้อง
เป็นสื่อทำให้ผู้ที่ได้รับฟังเกิดความรู้สึกสะเทือนใจ
หรือเกิดอารมณ์ที่สอดคล้องเคลิบเคลิ้มไปกับเสียงนั้น ๆ
ถ้าจะกล่าวถึงเครื่องดนตรีที่เกิดขึ้นนั้น ย่อมเป็นที่แน่นอนว่า เครื่องตี
จะต้องเกิดขึ้นก่อน เช่น การตบมือ การเคาะเกราะ โกร่ง หรือกระทุ้งกระบอก
ต่อมาก็จะเกิดเครื่องเป่า ที่เริ่มจากการผิวปาก เป็นต้น แล้วจะแยกออกไปเป็น
เป่าหลอดไม้ เป่าเขา เป่าสังข์ เป่าแตร เป่าขลุ่ย
รวมไปจนถึงเป่าใบไม้และเป่าแคน เป็นต้น ส่วนเครื่องดีด
แรกทีเดียวจะพบชาวป่าชาวเขา ใช้ไม้กระบอกกรีดผิวนอกออก แล้วเอาไม้ซีกเล็ก ๆ
หนุนสายให้ตึง ดีดเป็นเสียงคล้ายจะเข้ เรียกว่า จะเข้ป่า
ในพระราชนิพนธ์เรื่องเงาะป่า ทรงบรรยายถึงเครื่องดนตรีของพวกเงาะป่าว่า
"จะเข้สองสายทำด้วยไม้ไผ่ผ่าซีก" มีเครื่องดีดที่เกิดขึ้นอีกหลายชนิด เช่น
พิณน้ำเต้า กระจับปี่ ซึง เจ็งของจีนและฮาร์ปของฝรั่ง
นับเป็นเครื่องดีดทั้งสิ้น จากเครื่องดีดเหล่านี้
ต่อมาก็จะเปลี่ยนแปลงไปเป็นเครื่องสีอีกชั้นหนึ่ง
จะพบว่า เครื่องดนตรีทุกชนิด ทั้ง ดีด สี ตี เป่า นั้น
ย่อมมีเสียงสูงต่ำต่างกันหลาย ๆ เสียง อย่างไรก็ตาม แม้จะมีเสียงต่างกัน
ตามหลักของดุริยางคศาสตร์ ถือว่า
เสียงดนตรีมีเสียงเรียงเป็นลำดับต่างกันอยู่ ๗ เสียงเท่านั้น
ส่วนเสียงที่เกิน ๗ ออกไปนั้น ก็เป็นเสียงซึ่งซ้ำกับเสียงภายใน ๗
เสียงนั่นเอง แต่มีระดับสูงหรือต่างกันเป็นช่องคู่ ๘ คู่ ๑๕ คู่ ๒๒ ฯลฯ
หากฟังดูให้ดีก็จะเป็นเสียงที่ซ้ำกันนั่นเอง
ท่านสุนทรภู่ กล่าวสดุดีดนตรีไว้ในเรื่องพระอภัยมณี ว่าดังนี้
ถึงมนุษย์ครุฑาเทวาราช จัตุบาทกลางป่าพนาสิน
แม้นปี่เราเป่าไปให้ได้ยิน ก็สุดสิ้นโมโหที่โกรธา
ให้ใจอ่อนนอนหลับลืมสติ อันลัทธิดนตรีดีหนักหนา
ซึ่งสงสัยไม่สิ้นในวิญญาณ์ จงนิทราเถิดจะเป่าให้เจ้าฟัง
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น